โรงเรียนวัดราชาธิวาส
ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนวัดราชาธิวาส
โรงเรียนวัดราชาธิวาส ได้กำเนิดขึ้น ณ บริเวณวัดราชาธิวาสในเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖)๑ สถานที่ที่ใช้เป็นโรงเรียนแห่งแรกคือ คณะทางเหนือซึ่งอยู่ "ด้านน่านอกคูพระอุโบสถ
มีการเปรียญตึกอย่างแบบรัชกาลที่ ๓ ใหญ่หลังหนึ่ง ศาลาขวางน่าหลังใช้เป็นโรงเรียน"๒ (ตั้งอยู่ส่วนริมน้ำด้านหน้าของศาลาการเปรียญไม้สักปัจจุบัน
ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ได้มีประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง ตำแหน่งราชการกระทรวงธรรมการ ซึ่งปรากฏอยู่ในประกาศแจ้งความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๑
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๒ หน้า ๓๑๔
ค. โรงเรียนประถมศึกษา แบ่งตามแขวง
(๑) แขวงตะวันออกเหนือ
๑. โรงเรียนปรินายก
๒. โรงเรียนสังเวช
๓. โรงเรียนโสมนัส
๔. โรงเรียนวัดราชาธิวาศ๓
ผู้อุปการะโรงเรียน : พระครูปลัดพิพัฒน์พรหมจริยคุณ๔
ครูใหญ่ : นายปรุง๕
ในปีเดียวกันนี้ ได้ปฏิสังขรณ์หอสำหรับสวดพระพุทธมนต์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันออกหลังเจดีย์ขึ้นเป็นโรงเรียน นับเป็นโรงเรียนหลังแรก และได้ทำเสร็จแล้วในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ เปิดสอนนักเรียนในที่นั้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒๖
ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๑ วันที่ ๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๓ หน้า ๕๖
๑ เทียบจากปฏิทินหลวง พุทธศักราช ๒๕๑๕ ฉบับพระราชทานความสุขปีใหม่
๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชนิพนธ์เรื่อง วัดสมอราย อันมีนามว่า ราชาธิวาศ : พระที่นั่งอัมพรสถาน วันที่ ๖ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๔๙๙), หน้า ๖๐.
๓ เดิม สะกดด้วย "ศ"
๔ เป็นรองเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว) เป็นเจ้าอาวาส
๕ ครูใหญ่คนแรก (พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๔๔๙)
๖ ดูจดหมายลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) เรื่อง ปฏิสังขรณ์หอสวดพระพุทธมนต์,เอกสารกระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๒), หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะอ้างถึงในที่ต่อไปว่า หจช.
ด้วยพระครู ปลัดพิพัฒน์พรหมจริยคุณวัดราชาธิวาศ ได้จัดการปฏิสังขรณ์หอสำหรับสวดพระพุทธมนต์ที่วัดราชาธิวาศขึ้นเป็นโรงเรียน ได้จ้างช่างให้มาดีดขึ้นให้ตรงแล้วต่อเสา ทำฝา ปูพื้น มุงหลังคา ถือปูน ทาสี
และทำบันไดด้านเหนือด้านใต้หัวละบันได ที่เชิงบันทั้งสองก่อถนนออกไปยาว ๔ ศอก ในการปฏิสังขรณ์นี้ สงวน อุบาสิกาเป็นผู้บริจาคทรัพย์ รวม ๘๓๐ บาท ได้ทำแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ แล้วได้มีการฉลอง พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และรับอาหารบิณฑบาต
เครื่องไทยธรรม มีไตรกับเครื่องบริขารอีกพอสมควร แล้วมีเทศนา ๒ กัณฑ์ กัณฑ์แรกมีเครื่องบริขารต่างๆ กับไตร ๑ ไตร กัณฑ์ที่ ๒ ไตร ๑ ไตรกับจตุปัจจัยเป็นราคา ๑๒ บาท ในการฉลองนี้ สงวนอุบาสิกาได้ออกเงิน ๓๔๐ บาท ได้เปิดสอนโรงเรียนที่นั้นต่อมา
ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ และได้มีผู้บริจาคเงินและสิ่งของบำรุงโรงเรียน คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ ประทานเงิน ๒๐ บาท ได้จัดซื้อหนังสือแบบเรียนต่างๆไว้สำหรับโรงเรียน สงวนอุบาสิกาให้เขากวาง ๑ คู่ ขอแขวนหมวก ๓ คู่ พระครูวินัยธรรม
ให้หม้อน้ำมีก๊อก ๑ หม้อ นายปั้นให้พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ หนึ่ง พระครูปลัดพิพัฒน์พรหมจริยาคุณ ให้นาฬิกาปารีสราง ๑ เรือน พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้หนึ่ง พระรูปสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวีหนึ่ง กับเก้าอี้หวาย ๖ เก้าอี้
ระฆังใหญ่ ๑ เล็ก ๑
กระทรวงธรรมการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระอนุโมทนาในส่วนกุศลนี้ด้วย๑
กระทรวงธรรมการ
วันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓
(ลงนาม) พระยาวุฒิการบดี๒
เสนาบดี
๑ จดหมายลงวันที่ ๒๔ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗), เรื่อง พระครูปลัดพิพัฒน์พรหมจริยคุณ วัดราชาธิวาส
ปฏิสังขรณ์หอสวดมนต์ขึ้นเป็นโรงเรียน, เอกสารแระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๒), หจช.
๒ ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์ ดำรงตำแหน่งปลัดครูฉลองกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๔๕ ภายหลังเป็นเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๕๔
เมื่อปฏิสังขรณ์หอพระพุทธมนต์เป็นโรงเรียนเสร็จแล้ว พระครูปลัดพิพัฒน์พรหมจริยคุณได้มีหนังสือมาให้ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์๑ ปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการทราบ และขอนามโรงรียนใหม่
ปลัดครูฉลองได้นำกราบเรียนท่านเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งได้มีบัญชาว่า ชื่อโรงเรียนใหม่นั้นเห็นว่า ควรให้คุณพระครูตั้งเองดีกว่าจะได้เป็นไปตามความประสงค์และมีความเห็นว่า โรงเรียนที่มีอยู่แล้วที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ถ้าอยู่ในพระอารามใช้ชื่อตามพระอารามนั้นโดยมาก
เช่นโรงเรียนนี้ตามชื่อเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่ต้องแล้วแต่คุณพระครูจะดำริ ทั้งนี้ถ้าตกลงประการใด ก็จะได้รีบนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระราชกุศลต่อไป และพระครูปลัดได้มีหนังสือตอบว่า
ที่ขอนามโรงเรียนใหม่นั้น ตกลงใช้นามเดิมคือ "ราชาธิวาศ"๒
๑ ม.ร.ว.เปีย มาลากุล ภายหลังเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๔๕๔ และเป็นเสนาบดี พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๕๘
๒ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓, (พ.ศ. ๒๔๔๗), เรื่องชื่อโรงเรียนใหม่นั้น ขอใช้นามเดิมว่า "ราชาธิวาศ", เอกสารกระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๒), หจช.
เมื่อมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เรื่องจัดการปฏิสังขรณ์ หอสำหรับสวดพระพุทธมนต์ที่วัดราชาธิวาศขึ้นเป็นโรงเรียนแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช
ได้มีรับสั่งว่า คำว่าหอสำหรับสวดพระพุทธมนต์เป็นโรงเรียนนั้น ทำให้เป็นที่เข้าใจว่า หอสวดมนต์ที่นั่นย้ายไปเสียที่อื่น เอาการโลกเป็นการใหญ่กว่าการพระศาสนาไม่ควร ควรจะแก้ไขให้ชัดว่า เป็นของเก่าไม่ได้ใช้สวดมนต์จึงปฏิสังขรณ์อาศัยใช้เป็นโรงเรียนชั่วคราว๑
เสนาบดีกระทรวงธรรมการ จึงได้ส่งเรื่องนี้ไปแจ้งความเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๑ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๓ หน้า ๘๖ ดังนี้
เพิ่มเติมข้อความในใบแจ้งความกระทรวงธรรมการ
ใบแจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกศึกษาธิการ ซึ่งออกในราชกิจจา เล่ม ๒๑ แผ่นที่ ๕ วันที่ ๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๓ หน้า ๕๖ เรื่อง ปฏิสังขรณ์หอสวดพระพุทธมนต์ที่วัดราชาธิวาสขึ้นนั้น ข้อความยังบกพร่องอยู่ จึงขอเพิ่มเติมให้ชัดว่า หอสวดพระพุทธมนต์นั้นเป็นของเก่าซึ่งชำรุดใช้เป็นหอสำหรับพระพุทธมนต์ไม่ได้แล้วช้านาน และเป็นที่ว่างเปล่าอยู่ จึงได้ปฏิสังขรณ์ขึ้น เพื่อได้อาศัยใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนหนังสือไทยไปในเวลาที่ไม่ได้ใช้การอื่น
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ลง หม่อมเจ้าหญิงสุภางค์พักตร์ไชยันต์ พระธิดาองค์ใหญ่จึงถวายวังใบพร (ตั้งอยู่ท่าวาสุกรี) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ซึ่งก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รับไว้ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทรัพย์เป็นค่าปลูกสร้างในวังพอสมควร
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชสาสน์กราบทูลกรมหลวงวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช จะทรงปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาส
กับจะใช้ที่ที่เป็นวังใบพร ซึ่งพระองค์ซื้อไว้เป็นท่าเรือสำหรับพระราชวังดุสิตได้เสด็จทอดพระเนตร วัดราชาธิวาส มีพระราชดำริที่จะบำรุงโรงเรียนและสร้างโรงเรียนให้ใหม่ โดยใช้เงิน๒ ของกรมหมื่น
มหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ซึ่งได้อุทิศทำอนุสาวรีย์และโรงเรียนไว้ "ทรงคิดบำรุงโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ คนเศษ แต่ได้แยกย้ายกันเรียนในสถานที่ต่างๆ เป็นที่เก่าๆทั้งนั้น"๓
๑ ดูบันทึก ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗), เรื่อง ให้แก้ข้อความเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษาให้ชัดเจน, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๒), หจช.
๒ เป็นเงินประกันชีวิต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ (หนังสือบางเล่มใช้ "วงศ์") ได้ขอยืมไปใช้ในการพระศพกรมหมื่นมหิศรฯ
๓ บุญนาค พยัคฆเดช ผู้รวบรวม "เรื่องทรงปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาส" พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่๕ (พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๐๕) หน้า ๒๘๙.
และมีพระราชดำริว่า "โรงเรียนนี้คิดจะไปตั้งไว้ท้ายพระเจดีย์ริมคูหลัง"๑ ทรงพระราชดำริกะเขตที่พระราชทานให้เป็นบริเวณโรงเรียนในวัดด้วย ส่วนรูปแบบโรงเรียนนั้น ด้านหน้าจะให้เป็นโรงเรียน
ด้านหลังจะเป็นที่ไว้พระพุทธไสยาสน์ ใต้พระที่ฐานสำหรับบรรจุพระอังคารหรืออัฐิวงศ์กรมหมื่นมหิสรราชหฤทัย๒ sup style="color: #0000FF;">๒
โรงเรียนไม้ชั่วคราวหลังแรก
๑๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ระหว่างที่มีการสังขรณ์วัดราชาธิวาส มีการรื้อถอนและสร้างใหม่เป็นการใหญ่
จึงได้ย้ายโรงเรียนไปไว้ที่วังกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณชั่วคราว จนกว่าจะจัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวเสร็จ๓
๑๗ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรโรงเรียนวัดราชาธิวาสที่ปลูกสร้างขึ้นชั่วคราวหลังใหม่พร้อมด้วยพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช๔
สถานที่แห่งนี้ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เป็นรูปตัวแอล หลังคาทรงปั้นหยา ทาสีหลังคาด้วยสีแดง กว้าง ๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ยกพื้นขึ้นมาสูง มีบันได มีฝา พื้นดินบริเวณรอบชายคาโรงเรียนลาดด้วยซีเมนต์ ปูกระเบื้อง เป็นอาคารขนาด ๔ ห้องเรียน๕
การก่อสร้างสิ้นเงิน ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน) โดยใช้เงินมรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (อาคารนี้ตั้งอยู่บริเวณเสาธงโรงเรียนและต้นจามจุรีในปัจจุบันนี้) โรงเรียนนี้รื้อตำหนักกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณมาปลูกชั่วคราว๖
๑ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๙๖-๒๙๗
๒ ดูบันทึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, เรื่อง ทุนที่จะสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๓ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑), เรื่อง เงินค่าจ้างขนส่งของโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๕), หจช.
๔ ดูจดหมายลงวันที่ ๑๑ พฤกษาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒), เรื่อง การเปิดโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารของกระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๖), หจช.
๕ ขุนวิศาลจรรยา, "ประวัติโรงเรียนวัดราชาธิวาส," ราชาธิวาสฉลองอาคารใหม่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๑, หน้า ๑๕.
๖ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒), เรื่อง การย้ายโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๖), หจช.
ในการเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงเรียนชั่วคราวหลังนี้ ตรงกับสมัยที่นายพุกเป็นครูใหญ่ ทางโรงเรียนได้มีหมายกำหนดการรับเสด็จไว้อย่างละเอียด๑
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้มิใช่เป็นการเสด็จมาเปิดโรงเรียนอย่างพิธี เพราะเป็นโรงเรียนชั่วคราว แต่เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสถานที่อย่างปกติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ๒
จึงถือเป็นโอกาสที่จะแสดงระเบียบการงานของโรงเรียนเช่นธรรมเนียมไหว้ครูของเก่าซึ่งนำมาใช้ในโรงเรียน และการแจกรางวัลหมั่นเรียน๓ โดยทูลเชิญเสด็จพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชทรงแจกหน้าพระที่นั่ง๔ เวลาที่จะเสด็จมาเป็นเวลาบ่าย ๕ โมง
ซึ่งเป็นเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามปกติ๕
ในปี ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ๖ ได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ถึงเรื่องพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาส ซึ่งกว่าจะสำเร็จลุล่วงเป็นอาคารถาวรได้นั้น โรงเรียนต้องพบอุปสรรคนานัปการ โรงเรียนเริ่มทรุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๒๙ และซ่อมแซม ๑
ครั้งในเดือนสิงหาคม รศ. ๑๒๙๗ หลังจากนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) ได้มีบันทึกฉบับหนึ่ง พระราชทาน
๑ ดูรายละเอียดกำหนดการรับเสด็จของโรงเรียนวัดราชาธิวาส เดือน พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒), เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๖) หจช.
๒ พระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)
๓ เป็นรางวัลหลวง พระราชทานแก่เด็กนักเรียนที่หมั่นเล่าเรียน ในปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ วัน (คิดวันละ ๖ ชั่วโมง) รางวัลนั้นจะเป็นสิ่งของใดก็ได้ หรือเงินก็ได้ ไม่ต่ำกว่า ๘ สลึง
๔ ดูบันทึกวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒), เรื่องกราบทูลเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชแจกรางวัลแก่นักเรียนหน้าพระที่นั่ง, เอกสารของกระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๖), หจช.
๕ ดูจดหมายลงวันที่ ๑๒ พฤกษาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒), เรื่อง ทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, กรมราชเลขานุการ ถึง เสนาบดีกระทรวงธรรมการ, เอกสารกรมราชเลขานุการ (ร. ๕ ศ. ๕/๘๒) หจช.
๖ ม.ร.ว.เปีย มาลากุล เป็นเสนาธิบดีกระทรวงธรรมการ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๕๘
๗ แจ้งดูความ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙, เรื่อง อธิบดีกรมศึกษาธิการอนุโมทนาในการซ่อมแซม โรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกรมศึกษาธิการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๗), หจช.
กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ทูลถามถึงการสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาส ตามพระราชพระสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว๑
แต่การสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาสก็ยังไม่ได้เริ่ม เวลาล่วงเลยมาจนอีกถึงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗โรงเรียนวัดราชาธิ-วาสโดย นายเกิด ครูใหญ่ ได้ทำหนังสือถึงท่านรองอำมาตย์โทขุนวรวุฒิพิเศษ พนักงานจัดการแขวงตะวันออกเหนือเรื่องโรงเรียนชำรุดมาก
ซุดลงไปทั้งหลังไม่มีดี บันไดก็ซุดและโย้รวน ฝนตกหลังคารั่ว ทางโรงเรียนได้นำเรื่องหารือผู้อุปการะโรงเรียน๒ ก็ได้ทราบว่ากรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ทรงบริจาคทรัพย์และสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดราชาธิวาสหลังหนึ่ง แต่ยังไม่ได้สร้าง และเงินอยู่ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ผู้อุปการะโรงเรียน เห็นว่า ควรขอความกรุณาต่อกรมศึกษาธิการสืบค้นเอาเงินรายนี้มาสร้างโรงเรียนใหม่๓
วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๗ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ทำบันทึกขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องการสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาสอย่างถาวรแทนโรงเรียนชั่วคราวที่สร้างขึ้น แต่ยังติดขัดเรื่องเงินมรดกของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้จัดการอยู่ จึงขอพระบารมีปกเกล้าเป็นที่พึ่ง๔
วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ มีพระราชสาสน์ตอบเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีจากพระราชวังสนามจันทร์ ให้ไปทูลถามเรื่องทุนที่ติดขัดนั้นที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์๕
๑ ดูบันทึกลงวันที่ ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕), เรื่อง การสร้างโรงเรียนวัดราชาธิ-วาสตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เอกสารกรมศึกษาธิการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๒ พระอริยะกวี เป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาศ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ภายหลังเลื่อนเป็นพระธรรมวโรดม จำพรรษาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ –๒๔๗๙
๓ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗, เรื่อง สร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศด้วยทุนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย, เอกสารกระทรวงธรรมการ, (๕๐/๕๖๙), หจช.
๔ ดูบันทึกร่าง ลงวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, เรื่อง ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย เรื่องการสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช,
๕ ดูสำเนาพระราชสาสน์ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๕๗, เรื่องทุนสำหรับสร้างโรงเรียนวัด ราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้มีบันทึกกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
ขอทราบเรื่องทุนทรัพย์กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งจะนำมาสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศตามพระบรมราชประสงค์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕๑
ต่อมา พระอริยกวี ผู้อุปการะโรงเรียนซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาศ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ภายหลังเลื่อนเป็นพระธรรมวโรดม จำพรรษาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๗๙๒ ได้มีจดหมายลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ถึงอำมาตย์ตรี
หลวงอนุพันธ์สิศยานุศิษฎ์ พนักงานจัดการแขวงตะวันออกเหนือ ขอความดำริของกรมศึกษาธิการว่า ควรจะจัดการอย่างไรต่อไป เพราะโรงเรียนวัดราชาธิวาสชำรุดมาก๓
กรมศึกษาธิการ ได้มีบันทึกตอบพระอริยกวี ผู้อุปการะโรงเรียนว่า ได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระมงกุกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) แล้วทรงโปรดให้เตือนไปยังเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ และทางกระทรวงธรรมการก็ได้เตือนด้วยหนังสือราชการไปแล้ว
แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ แล้วขอให้ท่านเจ้าคุณพระอริยกวีลองไปเฝ้าทูลเตือนเสียเอง คงจะได้รับสั่งตอบอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง๔
๑ ดูบันทึกลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, เรื่อง เสนาบดีกระทรวงธรรมการ กราบทูลถามถึงทุนทรัพย์ที่จะสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศ ว่ามีจำนวนเท่าใด และจะรับมาจัดการก่อสร้างได้เมื่อไร, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙) หจช.
๒ แผนที่และถาวรวัตถุของวัดราชาธิวาศกับจำนวนภิกษุสามเณร พิมพ์เมื่อพระธรรมวโรดมครองวัดาชาธิวาศครบ ๒๕ ปี วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ (พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่, ๒๔๗๙), ไม่ปรากฎเลขหน้า.
๓ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, เรื่อง พระอริยกวี ผู้อุปการะโรงเรียน ขอความดำริของกรมศึกษาธิการว่าควรจัดการกับโรงเรียนวัดราชา อย่างไร, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๔ ดูบันทึก ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘, เรื่อง เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ให้พระอริยกวีไปทูลเตือนเจ้า เจ้าฟ้ากรมพระนริศรฯ เองถึงเรื่อง ทุนทรัพย์ที่จะสร้างโรงเรียนวัด ราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
แต่พระอริยกวีตอบว่า ไม่สามารถจะไปทูลเตือนได้ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ๑
จึงได้มีบันทึกว่า ให้ทำหนังสือถึงเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์อีก และให้ท้าวความถึงเรื่อง กระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๕ ด้วย บันทึกฉบับนี้ลงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
๒ และร่างหนังสือกราบทูลเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวิดติวงษ์ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙๓
พ.ศ. ๒๔๖๐ ราชบุรุษตรี๔ ว่าที่ครูใหญ่โรงเรียนวัดราชาธิวาศ เขียนจดหมายลงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ถึงพนักงานจัดการศึกษาจังหวัดพระนครเหนือให้เจ้าหน้าที่ทำการก่อสร้างกระทรวงธรรมการมาตรวจและคิดจัดการอย่างไรต่อไป๕
เจ้าหน้าที่ได้มาตรวจโรงเรียนและมีความเห็นว่า ไม่ควรซ่อมเพราะจะเสียค่าใช้จ่ายเกือบจะเท่ากับราคาสร้างใหม่ อีกทั้งไม่พอกับจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ด้วย ควรหาเงินมาทำใหม่ แต่ถ้าไม่มีใครสร้างใหม่ก็ควรล้มเสียดีกว่า และจะเกิดอันตราย และจะพยายามไปกราบทูลกรมพระนริศร์ฯ ด้วยวาจาอีกครั้งหนึ่ง ท่านเสนาบดีก็เห็นว่าควรลองดู๖
และท่านเสนาบดีได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศร์ฯ อีกครั้งหนึ่งใน วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ เกี่ยวกับโรงเรียนวัดราชาธิวาศชำรุดมากเกินที่จะซ่อมแซม สมควรจัดการสร้างใหม่ให้เป็นโรงเรียนถาวร ควรมิควรอย่างไรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา๗
๑ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๖๙ และเป็นรัฐมนตีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖
๒ ดูบันทึก ลงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙, เรื่อง ทุนสำหรับโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารแผนกศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๓ ดูร่างจดหมายกราบทูล ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙, เรื่อง เสนาบดีกระทรวงธรรมการกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศร์ เรื่องทุนทรัพย์ที่จะสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๔ เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดราชาธิวาศ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๖๐
๕ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๐, เรื่อง ขอให้เจ้าหน้าที่ทำการก่อสร้าง กระทรวงธรรมการมาตรวจโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๖ ดูบันทึก ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, เรื่อง รายงานการตรวจโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๗ ดูบันทึกร่าง ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, เรื่อง โรงเรียนวัดมราชาธิวาศชำรุดมาก สมควรจัดการสร้างใหม่ให้ถาวร, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
ในที่สุด วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีหนังสือจากพระคลังข้างที่แจ้งความมายังเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (จางวางเอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) แจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดให้ส่งเงินมรดกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จำนวน ๕๕,๔๘๐ บาท ๙๙ สตางค์ (ห้าหมื่นห้าพันสี่ร้อยแปดสิบบาทเก้าสิบเก้าสตางค์) โดยใบเบิกของแบงค์สยามกัมมาจล หมายเลขที่ ๓๑๐๓๒๐๑
เพื่อสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศ และได้นำเข้าฝากคลังไว้ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐๒ รวมเวลาที่โรงเรียนหลังชั่วคราวชำรุดทรุดโทรมถึง ๕ ปีเต็ม (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๔๖๐) จนเจ้าหน้าที่การก่อสร้างกระทรวงธรรมการที่มาตรวจเสนอให้ล้มเสียดีกว่า๓
ถ้าไม่มีใครสร้างใหม่ เพราะจะเกิดอันตราย แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างโรงเรียนถาวรหลังใหม่ ด้วยเงินของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยขึ้น ณ ที่วัดราชาธิวาศแห่งนี้ ทำให้โรงเรียนวัดราชาธิวาศยังคงมีอยู่มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ได้ปรับปรุงพื้นที่ และให้ค่ารื้อถอนแก่บ้านเรือนต่างๆในบริเวณที่จะก่อสร้าง รวม ๑๗ หลัง เป็นเงิน ๒,๐๓๓ บาท โดยใช้เงินรายได้กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทั้งหมด เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ได้พระราชทานนามว่า "ตึก ไชยันต์ ๒๔๖๒" ตึกหลังนี้เป็นตึก ๒ ชั้น ประกอบด้วยไม้สัก หลังคามุงกระเบื้อง มีขนาดยาว ๒๕ วา หรือ ๑๐ ศอก มีระเบียง ห้องบันได และมุขยื่นไปทางหลังด้านตะวันออก กว้าง ๒ วา ๒ ศอก หรือ ๖ ศอก ยาว ๕ วา หรือ ๑๐ เมตร
ใช้สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และสำหรับบรรจุพระอัฐิ และพระอังคารของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยรวมทั้งพระประยูรญาติแห่งราชสกุล "ไชยันต์" ห้องหน้ามุขนี้เป็นห้องโถง ใช้เป็นหอประชุมของโรงเรียน หน้าตึกอยู่ทางทิศตะวันตก ตึกนี้มีห้องเรียน ๘ ห้อง จุนักเรียน ๒๔๐ คน
สิ้นเงินในการปลูกสร้าง ๔๔,๖๐๐ บาท (สี่หมื่นสี่พันหกร้อยบาทถ้วน)
๑ ดูจดหมาย ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, เรื่อง ส่งเงินมรฎกกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยสำหรับสร้างโรงเรียนวีดราชาธิวาศ, เอกสารกรมพระคลังข้างที่-กระทรวงธรรมการ, (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๒ ดูบันทึก ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, เรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ โปรดให้ส่งเงินมรฎกกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย สำหรับสร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาศ จำนวน ๕๕,๔๘๐ บาท ๙๙ สตางค์, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
๓ ดูบันทึก ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, เรื่อง รายงานการตรวจโรงเรียนวัดราชาธิวาศ, เอกสารกระทรวงธรรมการ (ศธ. ๕๐/๕๖๙), หจช.
"เงินที่เหลือจากการสร้างตึกไชยันต์ ได้นำไปจ่ายสำหรับจัดการนำไม้ที่รื้อจากโรงเรียนไม้หลังเก่า ไปปลูกเป็นห้องเรียนชั้นมัธยมตอนต้น ๒ ห้อง และที่พักสำหรับนักเรียนหลังตึกทางทิศใต้ ได้สร้างโรงพลศึกษา
ทำรั้วและประตูโรงเรียน กั้นอาณาเขตบริเวณด้านเหนือติดกับถนนเข้าวัด และสร้างถนนหน้าตึกไชยันต์จากประตูรั้วตลอดไปจนถึงโรงพลศึกษา ยาว ๙๔ วา หรือ ๑๘๘ เมตร นอกจากนี้ยังปรับพื้นและถมสนามภายในบริเวณโรงเรียน๑
ครั้นต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ หม่อมเจ้าหญิงสุภางค์พักตร์ ไชยันต์ พระชายาในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๔,๓๐๐ บาท
(สี่พันสามร้อยบาทถ้วน) สร้างตึก "สามพี่น้อง" เป็นสถานศึกษาเพื่อทรงอุทิศส่วนกุศลแด่พระธิดาและพระโอรสรวม ๓ พระองค์ คือ
1. หม่อมเจ้าหญิงอำไพสุพันธ ไชยันต์
2. หม่อมเจ้าชายจันทร์จุฑา ไชยันต์
3. หม่อมเจ้าชายมหาฤกษ์ ไชยันต์
ตึกนี้สร้างเป็นตึก ๒ ชั้น ต่อระเบียงร่วมกับตึกไชยันต์ ๒๔๖๒ ชั้นบนทางด้านทิศเหนือ ด้านหน้ามีมุขตรงกลาง ขนาดยาว ๑๒.๓๐ เมตร กว้าง ๙.๖๕ เมตร สูงเท่ากับระดับตึกไชยันต์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ มีห้องเรียนชั้นบนและชั้นล่าง
กว้าง ๗ เมตร ยาว ๙ เมตร ชั้นละ ๑ ห้อง จุนักเรียนห้องละ ๓๐ คน มีห้อพักครูชั้นบน และชั้นล่างกว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๑ เมตร ชั้นละ ๑ ห้อง มีระเบียงชั้นบนและชั้นล่างยาวตลอดตัวตึก กว้าง ๒.๑๘ เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๙๐ วัน การก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ทำพิธีเปิดตึก "สามพี่น้อง" ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙๒ นาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัย ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงานเปิดตึก และรับมอบไว้เป็นราชพัสดุ
ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการขณะนั้น
๑ "ประวัติโรงเรียนวัดราชาธิวาส" ใน ราชาธิวาส ๒๕๑๑ (พระนคร : โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์,๒๕๑๒), ไม่ปรากฎเลขหน้า.
๒ ดูเอกสารร่างผลการประชุมศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส เรื่องการจัดงานรื่นเริงประจำปีร่วมกับงานสมโภชตึกใหม่ "สามพี่น้อง"
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ให้ปลูกสร้างอาคารเรียนขึ้นอีกหลังหนึ่ง
ลักษณะทั่วไปของอาคารเรียนเป็นอาคาร ๓ ชั้นก่ออิฐ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาว ๔๕ เมตร กว้างทั่วไป ๑๐ เมตร มีทางเข้ากว้าง ๑.๕๐ เมตร ภายในอาคารจัดเป็นห้องเรียนและห้องธุระการอื่นๆ รวม ๑๒ ห้องเรียกว่า อาคาร ๓๑๒
ก่อนลงมือก่อสร้างได้รื้อโรงพลศึกษาเก่า ซึ่งได้ใช้เป็นห้องฝึกทำการฝีมืออยู่เป็นเวลานานหลายปีออกเสียก่อน แล้วปลูกสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นตามความยาวของคลองท่อ (คลองสุนันทา) ด้านหน้าตึกหันออกสู่ประตูโรงเรียน และตึกหลังนี้ได้ชื่อว่า "ตึกวาสุกรี"
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติเงินจำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาทถ้วน) ให้โรงเรียนเพื่อปลูกสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมอีก อาคารเรียนนี้มี ๑๘ ห้องเรียน เป็นแบบ ๔๑๘ (สี่ชั้น) ตั้วอยู่ ณ ฟากสนามติดกับวัดราชาธิวาส ด้านหน้าหันมาทางตึกไชยันต์ ๒๔๖๒ และตึกนี้มีชื่อว่า "ตึกสมอราย"
วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๕ ได้มีการต่อเติมอาคาร "ตึกสมอราย" ไปทางทิศใต้อีก เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
รื้อ "ตึกไชยันต์ ๒๔๖๒" สร้าง "ตึกไชยันต์" ใหม่
วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้งบประมาณก่อสร้างตึก ๖ ชั้น ด้านที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก่อน โดยได้งบประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการของตึกนี้เป็นรูปตัวแอล ๖ ชั้น เนื่องจากชำรุดแตกร้าวและทรุดลงไม่ปลอดภัยแก่นักเรียน เพราะอาคารหมดอายุแล้ว อาคารนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ มีความยาว ๔๐ เมตร กว้าง ๘ เมตร มีห้องเรียนห้องประชุม และห้องพักครู เรียกว่า อาคารขนาด ๖๒๔ และยังคงใช้ชื่อว่า "ตึกไชยันต์" ก่อนจะใช้งบประมาณสร้างเป็น ๓ ระยะ จึงจะเต็มรูปการก่อสร้างตึก เช่นนี้ ต้องรื้อตึกไชยันต์ ๒๔๖๒ นั้น ทางโรงเรียนได้มีหนังสือขออนุญาตไปยังตระกูลไชยันต์ตามรื้อตึก ตามหนังสือ ลงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
เนื่องจากโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ในวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ ดังนั้นเพื่อการปฏิบัติตามธรรมเนียมอันถูกต้องทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย กรมสามัญศึกษาได้ยึดถือปฏิบัติกันมาตลอดว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่ของโรงเรียนที่อยู่ในความอุปถัมป์ของวัดจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวัดด้วย ทางโรงเรียนจึงทำหนังสือขอคำอนุญาตจากท่านเจ้าอาวาสด้วยตามหนังสือที่ ศธ. ๐๘๐๗๐๖/๓๕ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ และทางวัดโดยท่านเจ้าอาวาสพระเทพปัญญากวีมีหนังสือตอบอนุญาตให้รื้อตึกไชยันต์ ๒๔๖๒ ดังปรากฎตามหนังสือที่ ๕/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖
อีก ๔ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๒๐)๑ โรงเรียนได้งบประมาณก่อสร้างต่อเติมตึกไชยันต์อีก ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านบาท) โดยสร้างต่อเติมด้านหน้าออกไปทางทิศเหนือ เป็นลักษณะตัวแอล (L) แต่ยังไม่เสร็จตามแบบ ต้องตัดไป ๑ ห้องกับห้องบันไดทางด้านติดกับตึกสมอราย
พ.ศ. ๒๕๒๓๒ ได้งบประมาณก่อสร้างต่อเติมไชยันต์อีก ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท จึงก่อสร้างเพิ่มความยาวของตึกอีก ๑ ห้อง ต่อทางเชื่อมระหว่างตึกไชยันต์กับตึกสมอราย และทางเชื่อมกับตึกวาสุกรี ส่วนห้อบันไดและห้องน้ำตัดแบบทิ้งไป
อาลัยตึกสามพี่น้อง ๒๔๗๙… ต้อนรับตึกเอนกประสงค์ "สามพี่น้อง"
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โรงเรียนวัดราชาธิวาสได้รับงบประมาณอีกจำนวนอีกจำนวน ๖,๒๐๐,๐๐๐ บาท (หกล้านสองแสนบาทถ้วน) เพื่อสร้างตึกเอนกประสงค์ซึ่งเป็นอาคาร ๔ ชั้น
ชั้นบนเป็นดาดฟ้าสำหรับใช้เป็นสนามบาสเกตบอล
ในการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์นี้ จะต้องรื้อตึกสามพี่น้อง ๒๔๗๙ เพื่อใช้พื้นที่ส่วนนี้ก่อสร้าง ตามแผนการขยายและปรับปรุงโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนนี้มีเนื้อที่จำกัดจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรื้อตึกสามพี่น้อง ๒๔๗๙ ได้
อนึ่ง เพื่อสำนึกในพระคุณของราชสกุล ไชยันต์ ที่ได้เมตตาอุปถัมป์โรงเรียนวัดราชาธิวาส ด้วยดีเสมอมา เพื่อเป็นอนุสรณ์และเครื่องหมายแสดงกตเวทิตาแด่ราชสกุลไชยันต์ โรงเรียนจะยังคงใช้ชื่ออาคารนี้ว่า ตึกสามพี่น้อง นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ร่วมกับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน วัดราชาธิวาส ดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้
๑. ดำเนินการสร้างรูปจำลอง (โมเดล) ตึกไชยันต์ ๒๔๖๒ และตึกสามพี่น้อง ๒๔๗๙ เป็นเป็นอนุสรณ์๓
๒. จัดให้มีการประกวดเรียงความและวาดภาพ "ตึกสามพี่น้อง ๒๔๗๙"๔
๑ อาจารย์จรัญ ตาบโกไสย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ
๒ อาจารย์ทิม ผลภาค เป็นผู้อำนวยการ ย้ายมาดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลงคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จนถึงปัจจุบัน
๓ โรงเรียนเปลี่ยนแปลงจาก การสร้างรูปจำลอง เป็นการประกวดเรียงความและวาดภาพตึกสามพี่น้องแทน เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมกิจกรรมด้วย
๔ หมวดกิจกรรมของโรงเรียนฯ ได้มอบหมายให้หมวดวิชาภาษาไทย และหมวดศิลปศึกษาของโรงเรียนรับไปจัดดำเนินการ