วัดราชาธิวาสวิหาร



วัดราชาธิวาสวิหาร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ พัฒนาโดยพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ไทยในราชจักรีวงศ์มาโดยลำดับ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาในประเทศไทย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด มีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหารและเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต

ที่ตั้งวัด

วัดราชาธิวาสวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกหรือฝั่งพระนคร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๓๔ ไร่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา มีอาณาเขตวัดดังนี้
ทิศเหนือ จรดคลองวัดราชาถึงถนนสามเสน ถัดไปเป็นโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลและบ้านญวน
ทิศใต้ จรดคลองท่อ ท่าวาสุกรี และหอสมุดแห่งชาติ
ทิศตะวันออก จรดที่ธรณีสงฆ์ของวัด ถัดไปเป็นถนนสามเสน และสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา

นามและความเป็นมาของวัด

วัดราชาธิวาสวิหาร เดิมชื่อว่า "วัดสมอราย" คู่กับ วัดสมอแครง (วัดเทวราชกุญชร) อันอยู่ใกล้กันในปัจจุบันนี้ วัดสมอราย เป็นวัดโบราณเก่าแก่มากสันนิษฐานกันว่าสร้างสมัยกรุงละโว้ หรือก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่หลักฐานจากกอง พุทธสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า วัดนี้สร้างเมื่อพ.ศ. ๑๘๒๐ และ ผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

วัดสมอรายนี้สมัยก่อนนั้นท่านได้เล่ากันไว้ว่า สภาพของวัดเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่หนาบ้าง บางบ้าง เหมาะสำหรับเจริญสมณธรรมของภิกษุผู้ยินดีในเสนาสนะอันสงัดของพระฝ่ายอรัญวาสี วัดนี้จึงเป็นวัดฝ่ายสมถะ พระสงฆ์มีกติกาวัตร เป็นระเบียบเรียบร้อยกวดขันดี เป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะพระสงฆ์วัดนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิปัสนาธุระอย่างดียิ่ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า คำว่า "สมอ" มาจากภาษาเขมรว่า "ถมอ" แปลว่า หิน ถมอราย แปลว่าหินเรียงราย สมอแครง แปลว่าหินแข็ง

ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดสมอรายนับเป็นวัดฝ่ายวังหน้า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงปฏิสังขรณ์ และ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ครั้งเมื่อทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงผนวช พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ และเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุข) วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงอุปสมบทแล้วทั้งสามพระองค์ก็เสด็จมาประทับที่วัดสมอราย เมื่อจุลศักราช๑๑๕๖ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๓๗ เดือน ๘

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระลูกยาเธอเจ้าฟ้า กรมขุนเสนานุรักษ์ ทรงผนวชพร้อมหางนาค คือ พระพงษ์นรินทร์ ซึ่งเป็นบุตรพระเจ้ากรุงธนบุรี และนักองเอง (พระราชบุตรบุญธรรมในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงอุปการะไว้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพระเจ้ากรุงกัมพูชา) ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเมื่อทรงผนวชแล้ว ทั้งสามพระองค์ก็เสด็จมาประทับที่วัดสมอราย

ครั้นตอนปลายรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๘๖ ( พ.ศ. ๒๓๖๗ ) หลังจากประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุปฏิบัติอุปัชฌาย์วัตรตามพระวินัยแล้วก็เสด็จมาจำพรรษาที่วัดสมอรายนี้ จนถึงวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ นั้นเองก็สิ้นรัชกาลที่ ๒ และยังประทับที่วัดนี้จนตลอดพรรษา แล้วเสด็จไปประทับที่วัดมหาธาตุบ้าง วัดสมอรายบ้างจน พ.ศ. ๒๓๗๒ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ จึงเสด็จมาประทับที่วัดสมอรายเป็นการถาวร โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ทรงทราบจึงรับสั่งให้ปลูกพระตำหนักถวายเป็นพระตำหนักช่อฟ้าใบระกา ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระอุโบสถ ปัจจุบันอยู่ในเขตสังฆาวาส คณะใต้

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ เมื่อทรงประทับที่วัดสมอรายทรงเพียรพยายามศึกษาพระไตรปิฎก ถือพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกเป็นหลัก ทำให้ทรงเห็นว่าวิธีปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ ในสมัยนั้นแตกต่างไปจากพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นอันมาก ต่อมาทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระมอญ ชื่อ "ซาย พุทธวํโส" เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธาจารย์ อยู่วัดบวรมงคล(วัดลิงขบ) มีพระประสงค์จะประพฤติเคร่งครัดเช่นนั้น จึงทรงอุปสมบทใหม่ซ้ำ ณ ศาลาโบสถ์แพ ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดราชาธิวาสวิหารและทรงตั้งลัทธิสมณวงศ์ขึ้นใหม่ชื่อ "ธรรมยุติกนิกาย" แปลว่า ฝ่ายเคร่งครัดธรรม กำหนดด้วยการฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาใหม่เป็นการตั้งคณะธรรมยุตขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๗๖ ทรงใช้วัดสมอรายเป็นศูนย์กลางในการสั่งสอน และเผยแพร่ความคิดของพระองค์ ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดราชาธิวาส ๗ พรรษา ทรงยกย่องทำนุบำรุงมิได้เลือกว่าเป็นธรรมยุติ หรือมหานิกาย ข้อใดซึ่งควรแนะนำให้ดำเนินไปในทางปฏิบัติที่ชอบที่ควรก็ได้ทรงแนะนำชักชวนโดยธรรมิกอุบาย พระสงฆ์ฝ่ายคณะมหานิกายก็พลอยประพฤติดีขึ้นด้วยเป็นอันมาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงปรารภว่า วัดสมอรายเป็นที่ประทับระหว่างทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถของพระองค์พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ จึงทรงพระราชทานนามเสียใหม่ว่า "วัดราชาธิวาสวิหาร" เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งมีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา แต่ตามเอกสารต่างๆ เรียกวัดนี้ว่า "วัดราชาธิวาส" ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ เจ้าอาวาสในครั้งนั้น ได้ขอพระราชทานให้เติมคำว่า วิหาร ต่อท้ายเป็น "วัดราชาธิวาสวิหาร" ตามนามเดิมครั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ และตลอดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชาธิวาสวิหาร ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมาทุกรัชกาลตามปรากฏการบูรณะและปฏิสังขรณ์ดังนี้

การบูรณะและปฏิสังขรณ์

ในรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงปฏิสังขรณ์
ในรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงปลูกพระตำหนักช่อฟ้าใบระกา ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ไว้เป็นที่ประทับ และได้มีการปฏิสังขรณ์ ๓ ครั้ง
ในรัชกาลที่ ๔ ได้มีการปฏิสังขรณ์ต่อจากรัชกาลที่ ๓ อีกมาก
ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสร้างใหม่หมดทั้งวัด ที่ปรากฏอยู่คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ ศาลาการเปรียญ กุฏิไม้ทาสีแดง หอสวดมนต์ ถนนหิน ลานหิน ภูเขาถมอ เสาหิน เขื่อนคู ถนนผ่ากลางวัด พร้อมทั้งสะพาน หล่อพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นการซ่อมแซมและบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพเวสสันดรชาดก ที่ฝาผนังพระอุโบสถ สร้างพระวิหารสมเด็จพระอัยยิกา กุฏิเจ้าอาวาสและอื่นๆ อีกมาก
ในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักพญาไทมาประดิษฐานไว้ ในวัด และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ โปรดให้สร้างกุฏิตึกแถว ๓ หลัง ในคณะบน และได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์การบูรณปฏิสังขรณ์หลายประการ
ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บูรณะพระสัมพุทธวัฒโนภาส ฐานชุกชี บูรณะพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปูชนียสถานและถาวรวัตถุในวัด

๑. พระอุโบสถ ทรงแบบขอมคล้ายนครวัด เดิมเป็นพระอุโบสถเก่า ปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และมาซ่อมแซมต่อเติมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมาก็ชำรุดทรุดโทรมมาก ผนังโบสถ์เก่าแยก รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบสร้างใหม่ถวาย เมื่อ ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) แต่ให้รักษาผนังพระอุโบสถเดิมไว้ด้วย ด้วยเป็นสถานที่อนุสรณ์สำคัญของฝ่ายธรรมยุต ดังนี้สมเด็จฯ จึงคิดแบบโดยวางเสาและผนังโบสถ์ใหม่ คร่อมโบสถ์เก่าไว้อย่างแนบเนียน พระอุโบสถแห่งนี้มีเสาพาไลโดยรอบ ด้านหน้ามีประตู ๓ ช่อง มีห้องเป็น ๓ ตอน ห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธาน มีเศวตฉัตร ๙ ชั้น (ร.๕ หล่อพระราชทาน) หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา เบื้องบนมีภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆกำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตร ในเรื่องพุทธวงศ์ และมีพระอินทร์มาเฝ้า ที่ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่เบื้องหลัง มีซุ้มคูหาเป็นตราประจำ ๕ รัชกาล คือรัชกาลที่ ๑ - ๕ บนเพดานเป็นลวดลายดาววิจิตร ฝาผนังทั้ง ๓ ด้าน มีภาพเวสสันดรชาดกครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งร่างแบบภาพเขียนโดย สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และระบายสีด้วยวิธีการแบบใหม่คือเฟรสโก โดยระบายสีลงบนผนังในขณะที่ปูนฉาบฝาผนังยังไม่แห้ง โดยศาสตราจารย์ชาวอิตาเลียนชื่อ "ริโครี" บานประตูหน้าต่างทุกบานลายรดน้ำ ทรงข้าวบิณฑ์ ด้านในเป็นภาพเทวรูปทุกช่อง ตอนหลังสุดมีผนังห้องและประตูผ้าม่านผ่านถึงตอนที่ ๓ เป็นที่ประดิษฐาน พระประธานองค์เดิมของวัดนามว่า "พระสัมพุทธวัฒโนภาส"

๒. พระเจดีย์ ทรงชวาในสมัยศรีวิชัย เดิมเป็นพระเจดีย์ที่ รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้น เป็นแบบมหายาน มีปล้องไฉน ๖ ปล้อง และในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เป็นรูปทรงชวาในสมัยศรีวิชัย ครอบพระเจดีย์องค์เดิมแต่ยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้สร้างต่อมา ท่านผู้ควบคุมให้ออกแบบสร้างพระเจดีย์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จแล้วได้ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลามหายานสมัยศรีวิชัย คือพระยานิพุทธ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอัญเชิญมาจากพระเจดีย์บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย มาประดิษฐานอยู่บนซุ้มพระเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ นอกจากนั้นรอบพระเจดีย์ยังประดิษฐานรูปสิงห์ปูนปั้น ๓๐ ตัว โดยรอบพระเจดีย์ เลียนแบบมาจากเจดีย์วัด แม่นางปลื้มและวัดธรรมิกราชที่อยุธยา สิงห์เป็นเครื่องหมายของศากยกษัตริย์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง พระบารมี ๓๐ ทัศน์ของพระพุทธเจ้า

๓. วิหารพระอัยยิกา เป็นแบบจตุรมุข หันหน้าสู่ทิศตะวันออก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาล ที่ ๖ โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระอัยยิกาอันเป็นพระชนนีของพระองค์ที่พิราลัยแล้ว จึงทรงสถาปนาอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ซึ่งเป็นพระราชอัยยิกา(ยาย) ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ และเป็นพระราชปัยยิกา(ย่าทวด)ในรัชกาลปัจจุบัน ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปแบบรัชกาลที่ ๖ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และ ภายใต้พุทธบัลลังก์เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารสมเด็จพระปิยมาวดีฯ

๔. ศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ ทำด้วยไม้สักทั้งหลัง เลียนแบบมาจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี หน้าบันทั้งสองด้านมีตราเป็นเครื่องหมายสำคัญไว้ คือ ด้านหน้าทางแม่น้ำเจ้าพระยามีตราจุลมงกุฎ คือพระเกี้ยวอันเป็นเครื่องหมายรัชกาลที่ ๕ ด้านหลังทิศตะวันออกมีตราวชิราวุธอันเป็นเครื่องหมายรัชกาลที่ ๖ ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์สมัยรัตนโกสินทร์อันงดงามซึ่งออกแบบโดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
๕. พระตำหนักพระจอมเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ สร้างถวาย พระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชและประทับอยู่ที่วัดราชาธิวาสวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของวัดนี้

๖. พระตำหนักสี่ฤดู สร้างขึ้นโดยจำลองชื่อพระตำหนักสี่ฤดู ในวังสุโขทัย

๗. พระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง (พระตำหนักพญาไท) เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ สร้างด้วยศิลปะไทยผสมยุโรป ได้รับพระราชทานให้ย้ายมาจากพระตำหนักพระราชวังพญาไททั้งหลัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๗

๘. ศาลาโบสถ์แพ จำลองจากโบสถ์แพกลางน้ำหน้าวัดซึ่งทรุดโทรมไป สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๖ พระธรรมวโรดม อุตตมะ เป็นเจ้าอาวาสชักชวนอุบาสก อุบาสิกา และเจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายในสมทบทุนเป็นอันมาก

๙. กุฏีเจ้าจอมสว่าง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ เจ้าจอมสว่างเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕

๑๐. แท่นพระร่วงจำลอง คือพระแท่นศิลาอาสน์จำลอง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จำลองไว้อยู่ข้างต้นโพธิ์ หน้าพระตำหนักสี่ฤดู เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ พระแท่นศิลาอาสน์จำลองนี้จำลองจากพระแท่นมนังคศิลา สมัยพ่อขุนรามคำแหง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้กลางดงตาล ชานเมืองสุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชะลอมาเมื่อครั้งทรงผนวช ปัจจุบันพระแท่นมนังคศิลา เก็บรักษาไว้ที่วิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

๑๑. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (โพธิ์ลังกา) ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้หรือเป็นต้นไม้แห่งปัญญาของพุทธศาสนิกชน ที่วัดราชาธิวาสวิหาร มีที่สำคัญอยู่ ๒ ต้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศใต้ของพระอุโบสถ เป็นต้นโพธิ์ที่นำมาจากประเทศศรีลังกา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงนำมาปลูกไว้ เรียกว่า "โพธิ์ลังกา"

พระพุทธรูปสำคัญ

๑. พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระประธานองค์หน้า นามว่า พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ อันเป็นดิถีคล้ายกับวันพระบรมราชประสูติกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ ไว้ใต้ฐานชุกชี

๒. พระสัมพุทธวัฒโนภาส เป็นพระประธานองค์หลัง นามว่า พระสัมพุทธวัฒโนภาส เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะอยุธยา เป็นพระประธานองค์เดิมในอุโบสถ ในรัชกาลที่๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารสมเด็จพระ ศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไว้ใต้ฐานชุกชี และเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ไว้ด้วย


๓. "พระนิรันตราย" วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ประดิษฐานด้านหน้าของ พระสัมพุทธพรรณี (จำลอง) ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปหนึ่งในจำนวน ๑๘ องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างสำหรับพระราชทานแด่วัดในสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย จำนวน ๑๘ วัด ประดิษฐาน ภายในพระอุโบสถตามพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิเพชร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๒ เซนติเมตร สูง ๒๒.๕ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง ๒๔ เซนติเมตร ขุดพบที่ชายป่าที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โปรดให้อัญเชิญไว้กับพระกริ่งทองคำองค์เล็กที่หอเสถียรธรรมปริตร ต่อมามีผู้โจรกรรมเฉพาะพระกริ่ง แต่มิได้เอาพระพุทธรูปองค์นี้ ทั้งที่เป็นทองคำหนักถึง ๘ ตำลึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า พระองค์นี้แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง เมื่อแรกที่ขุดพบก็มิได้นำไปทำประโยชน์ ส่วนครั้งนี้ก็รอดพ้น จึงถวายพระนาม "พระนิรันตราย" แล้วโปรดให้หล่อพระพุทธรูปสวมไว้ชั้นหนึ่ง จากนั้นทรงออกแบบเอง เป็นพระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิเพชร ครองจีวรอย่างธรรมยุติกนิกาย เบื้องหลังทำเรือนแก้ว มีพระมหาโพธิ์ ยอดเรือนเป็นมหามงกุฎหล่อด้วยเงินแท้ไว้คู่กัน พุทธศักราช ๒๔๑๑ พระราชดำริว่า วัดธรรมยุติฯ เกิดขึ้นหลายแห่ง วัดควรจะมีสิ่งของเป็นที่ระลึก โปรดให้ช่างหล่อพระพุทธรูปด้วยพิมพ์เดียวกับที่หล่อพระเงินและพระทองที่ครอบพระนิรันตรายด้วยทองเหลือง และกะไหล่ทองคำ จำนวน ๑๘ องค์ เท่าจำนวนปีที่ทรงครองราชย์ และพระราชดำริจะหล่อเพิ่มขึ้นปีละ ๑ องค์ ถวายพระนามพระนิรันตรายทุกองค์ ก็สิ้นรัชกาลก่อน ตราบถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำกะไหล่ทองทั้ง ๑๘ องค์ แล้วพระราชทานแก่วัดธรรมยุติกนิกาย ตามพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดละองค์ ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดบรมนิวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดโสมนัสราชวรวิหาร วัดราชาธิวาส วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี วัดปทุมวนาราม วัดราชผาติการาม วัดสัมพันธวงศาราม วัดเครือวัลย์ วัดบุปผารามวรวิหาร วัดบุรณศิริมาตยาราม วัดยุคันธราวาส จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบัน ‘พระนิรันตราย องค์ดั้งเดิม’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง : วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

๔. พระพุทธรูปอู่ทอง ปางห้ามสมุทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้า ผันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ในลักษณะห้ามภยันตราย

๕. พระพุทธรูปศิลาแบบมหายาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำ มาจากประเทศอินโดนีเซีย มี ๔ องค์ ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มพระเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ

๖. พระพุทธรูปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ เป็นพระประธานองค์ใหญ่บนศาลาการเปรียญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานแก่วัดราชาธิวาสวิหาร

๗. พระสันติภาพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อขึ้นที่วัดราชาธิวาสวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ สร้างเป็นอนุสรณ์ที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง อันแสดงถึงสันติภาพของโลกกลับมาสู่โลก อีกครั้งหนึ่ง

๘. พระพุทธรูปสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่หอธรรมสงเคราะห์ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

๙. พระพุทธรูปสมัยลพบุรี (หลวงพ่อนาค) เป็นพระศิลาปางนาคปรกศิลปะลพบุรี ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตตมเถร) ได้อัญเชิญมาจากจังหวัดลพบุรี ในสมัยรัชกาลที่ ๖

๑๐. พระพุทธไสยา ประดิษฐานอยู่ ณ ห้องประชุมตึกไชยันต์ โรงเรียนวัดราชาธิวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบมีลักษณะเหมือนสามัญมนุษย์ที่งามที่สุด ที่ฐานบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศร ราชหฤทัย

๑๑. พระพุทธรูปสิหิงค์จำลอง ประดิษฐานอยู่ในศาลาสวัสดิวัตน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จเททอง เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

๑๒. พระพุทธรูปในวิหารพระอัยยิกา ลักษณะรูปแบบคล้ายพระพุทธรูปแบบคันธารราฐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูปเป็นองค์แทนสมเด็จพระปิยมาวดี พระอัยยิกาในพระองค์ องค์พระขนาดเท่าคนจริง ประดิษฐานในวิหารพระอัยยิกา คณะใต้

ลำดับเจ้าอาวาส

สมัยเมื่อวัดนี้ยังเป็นวัดมหานิกาย มีเจ้าอาวาสปกครองวัดโดยลำดับดังนี้ คือ
๑. พระปัญญาพิศาลเถร (นาค)
๒. พระปัญญาพิศาลเถร (ศรี)
๓. พระธรรมวิโรจน์ (คง)
๔. พระธรรมวิโรจน์ (นก)
๕. พระภาวนาภิราม (รอด)

เจ้าอาวาสเมื่อเปลี่ยนเป็นวัดธรรมยุติแล้ว คือ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จันทสิริ ป.ธ. ๘) พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๔๕๑

ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เขียว จันทสิริ ป.ธ.๘ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

นามเดิมของท่าน ชื่อ " เขียว " เกิดเมื่อวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๙๕ ตรงกับวันที่ ๗ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๗๖ ที่บ้านสวนริมวัดสมอราย กรุงเทพมหานคร

บิดาชื่อ นายน่วม รับราชการเป็นที่หมื่นพร ในกรมพระตำรวจในพระบรมหาราชวัง มารดาชื่อทรัพย์ ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง ๑๑ คน อายุได้ ๑๑ ขวบโยมได้พามาฝากเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมที่วัดสมอราย พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุย่าง ๒๓ ปี อุปสมบทเป็นภิกษุธรรมยุติกนิกาย บนศาลาโบสถ์แพ หน้าวัดสมอราย โดยมีพระอริยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ จันทรังสี (เวลานั้นยังเป็นพระปลัดยิ้ม ) กับพระพรหมมุนี สุมิตโต (เวลานั้นเป็นพระมหาเหมือนเปรียญ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ๒ องค์ พ.ศ. ๒๔๒๙ รัชกาลที่ ๕ โปรดนิมนต์ท่านพร้อมกับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ไปครองวัดราชาธิวาสวิหาร ครั้นวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามจารึกในพระสุพรรณบัฏพิเศษว่า " สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกมหาปรินายก ตรีปิฏกโกศล วิมลมัชฌิมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิต ณ วัดราชาธิวาสวิหาร พระอารามหลวง "

ตลอดชีวิตสมณเพศท่านฝักใฝ่วิปัสสนาธุระ และคันถธุระ เทศน์สั่งสอนประชาชนมาโดยตลอด สอนให้ศิษย์รู้พระปริยัติธรรม บริบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร ปฏิบัติสมณกิจ ท่านยังมีความสันโดษยินดีในที่วิเวก เป็นที่ควรเคารพบูชา สมเด็จพระพุฒาจารย์มรณภาพด้วยโรคลมจับดวงหทัย เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ อายุ ๗๙ ปี ๒ เดือน พรรษาได้ ๕๗ พรรษา

พระศิริธรรมมุนี (จาบ เขมโก ป.ธ. ๗) พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๕๔

ประวัติ พระศิริธรรมมุนี (จาบ เขมโก ป.ธ. ๗ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

นามเดิมของท่านชื่อ " จาบ " เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่ออายุ ๒๐ ปี บวชเป็นพระมหานิกาย ในสำนักท่านอุปัชฌาย์ แก้ว วัดจันทร์ มีเจ้าอธิการเอี่ยม วัดวังตะวันออก และพระครูกาชาติ (ย่อง) วัดวังตะวันตก เป็นอนุกรรมวาจา ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ จังหวัดสงขลา และปีรุ่งขึ้นเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่

วัดพระเชตุพน ฯ พอย่างขึ้นเดือน ๗ ร.ศ. ๑๐๙ ได้แปลงเป็นพระธรรมยุตในสำนักของพระพรหมมุนี (แฟง) วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อครั้งยังเป็นพระกิตติสารมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นกรรมวาจาจารย์ ศึกษาจนสอบไล่ได้เป็นเปรียญเอก ท่านเดินทางไปสั่งสอนประชาชนแถบมลายู ๑ พรรษา

ต่อมาเป็นพระราชาคณะตำแหน่งพระภัทรมุขมุนี เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร ได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ๑๒ ปี และในพ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ.๑๒๗) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร ในเวลาต่อมาท่านอาพาธด้วยโรคนอนจำวัดไม่หลับ ได้ลาออกกลับไปพักรักษาตัวที่วัดโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่ออาการทุเลาก็สั่งสอนประชาชนแถบแหลมมลายูต่ออีก ๕ ปี สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับสั่งให้กลับมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในกรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัยท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภูมิลำเนาเดิมจนกระทั่งมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ อายุได้ ๘๗ ปี พรรษาได้ ๖๗ พรรษา

พระธรรมวโรดม ( เซ่ง อุตฺตโม ป.ธ.๕) พ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๕๘

ประวัติ พระธรรมวโรดม ( เซ่ง อุตฺตโม ป.ธ. ๕ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

นามเดิมของท่านชื่อ " เซ่ง " เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ที่บ้านปากคลอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บิดาชื่อ ตี๋ มารดาชื่อ สุข อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

ครั้นอุปสมบทแล้วกลับมาอยู่ที่วัดคงคาสวัสดิ์ จังหวัดพัทลุง และในปีนั้นได้เข้ามาอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และทรงตั้งให้เป็นพระครูใบฎีกา ฐานานุกรมในพระองค์ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและปฏิบัติดีทำให้ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์มาโดยตลอด และในพ.ศ. ๒๔๕๔ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส วิหาร ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า " พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฏกคุณาลังการภูสิต ทักษิณทิศคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี สถิต ณ วัดราชาธิวาสวิหาร พระอารามหลวง" สมเด็จมหาสมณเจ้า ทรงสรรเสริญไว้ว่า ท่านรู้จักแสดงเทศนาให้เหมาะแก่บริษัทผู้ฟัง และถูกความต้องการแห่งพระศาสนาและราชอาณาจักร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเป็นพระคณาจารย์เอกในทางแสดงธรรม ท่านเป็นผู้วางระเบียบการศึกษา การบริหาร เป็นประโยชน์ทั้งแก่ภิกษุสามเณร ศิษย์วัด อุบาสกอุบาสิกา พุทธมามกะทั้งในวัดและในจังหวัดมณฑล บรรดาสิ่งก่อสร้างเท่าที่ปรากฏอยู่บัดนี้ เกิดขึ้นในยุคที่ท่านครองวัดราชาธิวาสวิหารเกือบทั้งสิ้น ท่านอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอได้รับการรักษาในพระอุปถัมภ์ของพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จนในที่สุดท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุได้ ๖๓ ปี พรรษาได้ ๔๑ พรรษา

พระศาสนโสภณ ( ปลอด อตฺถการี ป.ธ.๙) พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๕๐๓

ประวัติ พระศาสนโศภน ( ปลอด อตฺถการี ป.ธ. ๙ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

นามเดิมของท่านชื่อ " ปลอด วัฒโนดร " เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บิดาชื่อ นายฮวด มารดาชื่อ นางคิ่น มีพี่น้องรวม ๑๐ คน

การศึกษาเบื้องต้น จบวิชาสามัญ ชั้นมัธยม ๖ จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ชั้นมัธยม ๘ จากสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ขณะที่กำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านอุปสมบท ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ พัทธสีมาวัดธรรมบูชา ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพระธรรมวิโรจนเถระ(พลับ) เมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูศาสนภารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตมเถร ) เมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกศาจารย์ เป็นกรรมวาจาจารย์ ครั้นบวชแล้วเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงบวชต่อมาจนถึงมรณภาพ พระศาสนโศภน เข้ามาอยู่ที่วัดราชาธิวาสวิหารโดยท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตมเถร )ได้สั่งให้พระครูสังฆพินัย ไปรับมาอยู่ด้วย ซึ่งมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าก่อนที่ท่านจะมาอยู่ ณ วัดราชาธิวาสวิหารนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตมเถร) ได้สุบินนิมิตคือฝันว่า มีช้างเผือกขาวปลอดเข้ามายังสำนักวัดราชาธิวาสวิหาร พระศาสนโศภนท่านใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ชั่วระยะเวลาเพียง ๑๐ ปี ก็เล่าเรียนสำเร็จชั้นสูงสุด

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ตลอดชีวิตสมณเพศท่านได้ทำคุณประโยชน์นานัปการ อาทิ ผู้อำนวยการศึกษาพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดราชาธิวาส วิหาร รองแม่กองสอบนักธรรมสนามหลวง กรรมการตรวจสอบบาลีชั้นเปรียญธรรมเอกสนามหลวง เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและภูเก็ต เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นผู้นำพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาให้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นนิจ ท่านอาพาธด้วยโรคอัมพฤกษ์ ต่อมาอธิษฐานเข้าจำพรรษาที่วัดราชาธิวาสวิหาร และมรณภาพด้วยอาการอันสงบที่กุฏิตึกแดง เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ รวมอายุได้ ๗๖ ปี พรรษาได้ ๕๖ พรรษา

พระสุธรรมาธิบดี ( เพิ่ม อาภาโค ป.ธ.๙ ) พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๔๒

ประวัติ พระสุธรรมาธิบดี ( เพิ่ม อาภาโค ป.ธ. ๙ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

นามเดิมของท่าน ชื่อ "เพิ่ม" นามสกุล นาควานิช เกิดวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ณ บ้านทุ่งหลวง ตำบลนาสาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ นายแป้น มารดาชื่อ นางหนู นาควานิช ท่านอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ วัดราชาธิวาสวิหาร

โดยมีพระธรรมวโรดม ( เซ่ง อุตฺตมเถร )เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูโสภิตอาวาสวัตร (ฮั้ว โสภิโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์และมีเจ้าจอมสว่างในรัชกาลที่ ๕ เป็นโยมอุปัฏฐาก เป็นเจ้าภาพบวชให้ ได้นามฉายาว่า "อาภาโค" หลังจากอุปสมบทแล้ว พระมหาเพิ่ม อาภาโค ก็ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งในปีนั้นมีผู้สอบได้ ป.ธ.๙ เพียงรูปเดียวเท่านั้นในประเทศไทย

ต่อมาท่านกลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระมหาธาตุ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๖ มีพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร ตลอดระยะเวลาจากพ.ศ. ๒๕๐๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๑ รวมเวลา ๓๕ ปี ที่ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร ได้รับการปรับปรุงพัฒนาในทุกด้านกุฏิวิหารอาคารถาวรวัตถุ ได้รับการบูรณะหมดทุกหลัง ทั้งสร้างเพิ่มเติมอย่างมีระเบียบสวยงามลักษณะเด่นของท่าน คือ เป็นคนตรง มักน้อย สันโดษ และเป็นนักประชาธิปไตย ท่านอาพาธด้วยโรคหัวใจกำเริบ หมอถวายการรักษาจนอาการทุเลา วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงกลับมาพักรักษาตัวที่วัดราชาธิวาสวิหาร เพราะเกรงว่าจะขาดพรรษาและตั้งใจจะไปร่วมประชุมมหาเถรสมาคม แต่อาการทรุดลงและมรณภาพด้วยหัวใจขาดเลือด เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ อายุได้ ๘๒ ปี พรรษาได้ ๖๓ พรรษา

พระธรรมกวี ( ลือชัย คุณวุฑฺโฒ ป.ธ.๗) พ.ศ. ๒๕๔๒ – ปัจจุบัน

ประวัติ พระธรรมกวี ( ลือชัย คุณวุฑฺโฒ ป.ธ. ๗ ) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

นามเดิมของท่าน ชื่อ ลือชัย นามสกุล ไสยวรรณโณ เกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ณ บ้านทำนบ ตำบลทำนบ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บิดาชื่อ นายหวาน มารดาชื่อ นางยก ไสยวรรณโณ ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ พัทธสีมาวัดห้วยพุด ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

โดยมีพระครูโสภนศีลาจาร ( แดง โสณเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูจันทวิมล (คิ่น จนฺทคุตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา "คุณวุฑฺโฒ"การศึกษาแผนกธรรมและบาลี พ.ศ. ๒๕๙๕ สอบได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. ๒๕๐๒ สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้ทำคุณประโยชน์นานัปการ อาทิ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดลิเจีย อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานครเป็นกรรมการสงฆ์ภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุติ) เป็นกรรมการบริหารวัดมกุฏกษัตริยารม ฝ่ายการศึกษา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร พระธรรมกวีเป็นพระภิกษุที่อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ทั้งด้านการปกครองการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการศึกษาให้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไป เกียรติบัตรพิเศษได้รับประกาศเกียรติคุณ จากกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับประกาศเกียรติคุณ จากหนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจ เป็นบุคคลตัวอย่างประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย/p>