พระพุทธไสยาสน์



เรียบเรียงโดย นายมนัส ศรีเพ็ญ เลขประจำตัว ๓๘๔๔

นับตั้งแต่โรงเรียนวัดราชาธิวาสได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ มาจนถึงปัจจุบัน นับได้ ๑๑๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สิ่งที่นักเรียนเก่าทุกรุ่นเคารพสักการะสืบต่อกันมา คือ "พระพุทธไสยาสน์" ซึ่งอยู่กับโรงเรียนวัดราชาธิวาสตลอดมา ดังนั้น ไม่ว่ายุคใดสมัยใด พระพุทธรูปองค์นี้ก็ยังเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในใจของนักเรียนเก่า และนักเรียนปัจจุบันทุกคน และกล่าวถึงกันต่อเนื่องมามิได้ขาด ในโอกาสครบรอบ ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนาโรงเรียนวัดราชาธิวาส ผู้เรียบเรียงจึงขอบันทึกเรื่องราวของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ตลอดจนการจัดสร้างพระบูชา "พระพุทธไสยาสน์" ไว้เพื่อเป็นบันทึกแห่งประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโรงเรียนวัดราชาธิวาส

พระพุทธไสยาสน์

"พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่งดงามและคล้ายคนจริง" สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระไสยา" เป็นพระพุทธไสยาสน์ปางทรงพระสุบิน ศิลปะประยุกต์แบบกรีก มีลักษณะเหมือนสามัญมนุษย์ที่งามที่สุด ถ้ามองดูไกลๆ จะเหมือนคนนอนจริงๆ ห่มจีวรที่พลิ้วไหวเป็นริ้วบางเบาคล้ายผ้าจริง พระเนตรหลับพริ้มแม้กระทั่งลักษณะการวางพระบาท ก็เป็นไปในลักษณะสมจริงเช่นคนหลับทั่วไป คือยาว ๗๗ นิ้ว สูงทั้งฐาน ๒๒.๕ นิ้วแต่ทว่าเป็นอิริยาบถการนอนที่งดงามยิ่ง โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ ประทานให้ช่างปั้นและหล่อ คือ พระเทพรจนา (สิน) หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง สร้างอุทิศถวายและบรรจุพระอัฐิ และพระอังคาร ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ทรงเป็นราชโอรสองค์ที่ ๗๖ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเจ้าจอมมารดาห่วง ทรงอภิเษกกับหม่อมเจ้าหญิงสุภางค์พักตร์ พระธิดาองค์ใหญ่ของกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และหม่อมเจ้าหญิงโถมนา

หม่อมเจ้าหญิงสุภางค์พักตร์ ไชยันต์ ทรงสนพระทัยในด้านการศึกษามาก และทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ที่ได้อุทิศทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งไว้ให้สร้างโรงเรียนวัดราชาธิวาส แต่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน หม่อมเจ้าหญิงสุภางค์พักตร์ ไชยันต์ มิได้ทอดทิ้งพระประสงค์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงใช้ทุนทรัพย์มรดกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย สร้างตึกไชยันต์ โรงเรียนวัดราชาธิวาส ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ และสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เนื้อสัมฤทธิ์ปิดทองด้าน พระพุทธรูปประจำวันอังคาร วันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เพื่อให้อยู่คู่กับโรงเรียนวัดราชาธิวาส จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔ ตอน ๑๒๑ ง. ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐

การจัดสร้างพระพุทธไสยาสน์จำลอง และพระพุทธรูปบูชา

ช่วงก่อนที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสจะมีอายุครบ ๘๔ ปี ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส โดย ร.ต.เสริญ สุนทรชาติ นายกสมาคม และโรงเรียนวัดราชาธิวาส ได้มีมติให้สร้างพระพุทธรูปบูชา "พระพุทธไสยาสน์" การจัดสร้างครั้งนี้เพื่อให้นักเรียนเก่าและท่านที่สนใจนำไปสักการบูชา มิได้จัดสร้างขึ้นเพื่อค้ากำไร พระที่จัดสร้างขึ้นนี้เป็นเนื้อนวโลหะ ขนาด ๑๑ นิ้ว สูงประมาณ ๕ นิ้ว ต้นแบบโดยอาจารย์เข็มรัตน์ ทองสุข อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างจำนวน ๙๙๙ องค์ จะมอบให้ผู้บริจาคองค์ละ ๙๙๙ บาท และเหรียญพระพุทธไสยา ออกแบบโดยอาจารย์พูนศักดิ์ กมลโชติ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร มีเฉพาะเนื้อทองแดงจำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ สำหรับผู้บริจาคเหรียญละ ๒๐ บาท

ภาพคณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส ซึ่งจัดสร้างพระพุทธไสยาสน์ รุ่น ๘๔ ปี

การดำเนินการเริ่มจากพิธีเททองหล่อ ในวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระธรรมปัญญาจารย์ (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นองค์กำหนดฤกษ์ เวลา ๑๗.๐๙ น. ถึง ๑๗.๑๙ น. โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน ณ ข้างพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพมหานคร ส่วนพิธีพุทธาภิเษก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร ในวันศุกร์ ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๑๗.๐๙ น. ทรงเจิมและจุดเทียนชัย ในพิธีพุทธาภิเษกดังกล่าว ได้นิมนต์พระเถระผู้ใหญ่และพระเกจิอาจารย์ที่มีผู้เคารพนับถือมานั่งปรก ประกอบพิธีจนถึงเช้าวันเสาร์ ที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๙

ภาพสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศน์วิหาร เป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อ พระพุทธไสยาสน์ รุ่น ๘๔ ปี โรงเรียนวัดราชาธิวาส

ต่อมาเมื่อครบรอบ ๙๐ ปี ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มีการจัดหล่อพระพุทธรูปบูชา "พระพุทธไสยาสน์" เป็นครั้งที่สอง ขนาดองค์พระ ๑๑ นิ้ว (ขนาดฐาน ๑๓ นิ้ว) อีกจำนวน ๙๙๙ องค์ และเหรียญรูปไข่ชนิดทองคำ เงิน และบรอนซ์ โดยคณะช่างกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ดำเนินการจัดสร้างและได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงลงอักขระส่วนแผ่นทอง นาค เงิน และได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวรวิหาร ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลา ๑๔.๒๙ น. โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จทรงเป็นประธาน พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณวิทยาคม ในครั้งนี้ พระพุทธรูปบูชาชนิดกาไหล่ทอง บูชาองค์ละ ๑,๙๐๐ บาท และชนิดโลหะรมดำ บูชาองค์ละ ๑,๔๙๐ บาท สำหรับเหรียญพระนิพพานทรงญาณชนิดรูปไข่ รุ่น ๙๐ ปี เป็นทองคำหนัก ๑๕.๒ กรัม ให้เช่าบูชาเหรียญละ ๑๐,๐๐๐ บาท เงินหนัก ๒๕.๒ กรัม เหรียญละ ๕๐๐ บาท และเหรียญบรอนซ์ บูชาเหรียญละ ๕๐ บาท

ในโอกาสที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ นายสุธน คุ้มสลุด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชาธิวาส สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนวัดราชาธิวาส ได้ร่วมกันจัดสร้าง "พุทธไสยาสน์จำลอง และพระพุทธรูปบูชา ๑๑ นิ้ว รุ่นพิเศษ ๑๐๐ ปีราชาธิวาส" ซึ่งพระพุทธไสยาสน์จำลองที่จัดสร้างขึ้นในวาระนี้ ได้ประดิษฐานไว้ที่หน้าโรงเรียนวัดราชาธิวาส เพื่อให้นักเรียนปัจจุบันและผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาสามารถเคารพสักการะได้โดยสะดวก ส่วนพระพุทธรูปบูชาจัดสร้างเป็นเนื้อโลหะรมดำขนาดความยาวของฐาน ๑๓ นิ้ว จำนวนจำกัด ๓­๙๙ องค์ มีหมายเลขกำกับ แบ่งเป็นปิดทองคำเปลว (เฉพาะองค์พระ) ๙๙ องค์ ชนิดรมดำ ๓๐๐ องค์ ทั้ง ๒ แบบคละหมายเลขกัน ใต้ฐานบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์จากใต้องค์พระนิพพานทรงญาณองค์ใหญ่ที่ได้จากครั้งกรมศิลปากรมาบูรณะองค์พระ (ปิดทอง) ซึ่งกรมศิลปากรได้ลงความเห็นว่า ดินที่บรรจุภายในองค์พระมีความชื้นมากทำให้ปิดทองไม่เงางาม จึงได้นำดินที่อยู่ในองค์พระออกมา ปรากฏว่ามีน้ำหนักคล้ายแร่สีดำเป็นอัศจรรย์ ทั้งที่แบบที่ปั้นพระโดยทั่วไปนิยมใช้ดินเหนียว จึงได้นำดินส่วนนี้บรรจุภายใต้ฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ (จำลอง) นี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเมตตาจารแผ่นทอง เงิน นาค พร้อมด้วยพระเถระทรงวิทยาคมมากมาย เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ, หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ เป็นต้น เพื่อนำไปหล่อให้ได้สัดส่วนพระพุทธลักษณะที่งดงาม ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย เวลา ๑๕.๐๙ น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นประธานจุดเทียนชัย สมเด็จพระราชาคณะ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๒ รูปเจริญพระพุทธมนต์ พระเกจิอาจารย์นั่งปรกเจริญจิตตภาวนา เจ้าหน้าที่โหรพราหมณ์จากกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง อ่านโองการชุมนุมเทวดาจนเสร็จพิธี และมอบแก่ผู้ที่มีอุปการคุณบริจาคเงินสมทบกองทุนเพื่อการศึกษา ๑๐๐ ปีราชาธิวาส โรงเรียนวัดราชาธิวาส ตั้งแต่ ๑,๕๙๙ บาทขึ้นไป

ภาพพระพุทธรูปบูชา "พระพุทธไสยาสน์ ๑๐๘ ปี ราชาธิวาส"

ในโอกาสที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสครบรอบ ๑๐๘ ปี ในวันศุกร์ ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส โดย พล.อ.อ.ทองเลื่อน ประพัฒน์ทอง นายกสมาคม และคณะกรรมการได้ดำริจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา "พระพุทธไสยาสน์" เพื่อให้นักเรียนเก่าได้เช่าไว้สักการบูชาอีกวาระหนึ่ง เหมือนเช่นที่เคยจัดสร้างมาแล้ว เมื่อวาระครบรอบ ๘๔ ปี, ๙๐ ปี, และ ๑๐๐ ปี ตามลำดับ ในครั้งนี้ จึงเป็นการจัดสร้างขึ้นเป็นรุ่นที่ ๔ สมาคมจึงได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้น เป็นพระบูชาเนื้อทองเหลืองรมสีมันปู ขนาดฐาน ๑๓ นิ้ว จำนวนจำกัดเพียง ๑๐๙ องค์เท่านั้น โดยได้ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธไสยาสน์องค์บูชา เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๑๙ น. โดยอาราธนาพระธรรมกวี เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เป็นประธาน ที่โรงหล่อพระ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ในโอกาสดังกล่าวพระธรรมกวีได้นำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในการจัดสร้างพระกริ่งปวเรศวริย์ วัดราชาธิวาส (เมื่อปี ๒๔๙๙) มาใส่ลงในเบ้าหลอม และพิธีเททองได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย หลังจากสมาคมได้รับมอบพระจากโรงหล่อเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ สมาคมได้จัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้น ในวันเสาร์ ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๑๙ น. ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยพระธรรมกวีเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เป็นประธาน พระเถระผู้ใหญ่เจริญพระพุทธมนต์ สวดพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จนเสร็จพิธี

ภาพพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธไสยาสน์ เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔

การจัดสร้าง พระพุทธรูปบูชา "พระพุทธไสยาสน์" ครั้งนี้ สมาคมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคม นักเรียนเก่า ประชาชนที่สนใจและเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธไสยาสน์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปล้ำค่า และเป็นที่เคารพบูชาของชาวชมพู-น้ำเงินตลอดมา ได้เช่าบูชาองค์ละ ๓,๑๐๘ บาท (สามพันหนึ่งร้อยแปดบาทถ้วน)

ภาพคณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส ซึ่งจัดสร้างพระพุทธไสยาสน์ รุ่น ๑๐๘ ปี ราชาธิวาส

ในโอกาสครบรอบ ๑๑๐ ปี (๑๑ ทศวรรษ) โรงเรียนวัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ นายไชยา กัญญาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชาธิวาส ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกงานครบรอบ ๑๑ ทศวรรษ จำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ด้านหลังเป็นรูปตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนวัดราชาธิวาส ออกแบบโดยนายเจริญ มาบุตร จิตรกร ระดับชำนาญการ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนเก่า และผู้ที่สนใจเช่าบูชาเหรียญละ ๑๙๙ บาท

ปัจจุบัน พระพุทธไสยาสน์ได้ประดิษฐานไว้ที่ห้องพระ "มหิศรราชหฤทัย" ชั้น ๖ อาคารไชยันต์ โรงเรียนวัดราชาธิวาส เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร การจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา "พระพุทธไสยาสน์" ทุกครั้งที่ผ่านมา มุ่งหวังเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา และเปิดโอกาสให้นักเรียนเก่า ตลอดจนประชาชนที่สนใจได้นำไปสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เหมือนเช่นองค์พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่โรงเรียนวัดราชาธิวาสตลอดมา

แหล่งที่มา

๑) พันเอกถนอม เกิดสุข ภาพและข้อมูลการสร้างพระนิพพานทรงญาณ รุ่น ๘๔ ปี
๒) หนังสือวารสารโรงเรียนวัดราชาธิวาส ๙๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และวารสารโรงเรียนวัดราชาธิวาส ๑๐๐ ปีราชาธิวาส พ.ศ. ๒๕๔๖ เขียนโดย อาจารย์ตุ๊ ทำทานุก และอาจารย์ชวลิต ธีระกุล