สโมสรลูกเสือราชาธิวาส
ดร.ณัฐวัฒน์ นิปกากร เลขประจำตัว ร.ว. ๘๑๘๘
ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
เลขาธิการสโมสรลูกเสือราชาธิวาส และชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส
การก่อตั้งสโมสรลูกเสือราชาธิวาส และชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส
นับจากปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่ถือเป็นการเริ่มต้นตำนานลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ กองแรกของประเทศไทยที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส และพัฒนาต่อมาจนเป็นที่รู้จักกันในวงการลูกเสือของประเทศ
ในนาม "ลูกเสือกองพิเศษ โรงเรียนวัดราชาธิวาส" ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงปัจจุบัน นับเวลากว่า ๕๒ ปี มีการฝึกอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ กองพิเศษ สืบต่อกันมาได้ ๓๙ รุ่น และรุ่นที่ ๔๐ กำลังจะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ได้ผลิตลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ที่เป็นสุภาพบุรุษ มีระเบียบวินัย มีความเป็นผู้นำ รักษาความเป็นระบบกอง ระบบหมู่ สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นได้หลายร้อยคน
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เรืออากาศเอก เทอดชัย โชติพันธุ์ (ยศในขณะนั้น) พร้อมด้วยคณะลูกเสือเก่าของกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ กองพิเศษ อีก ๑๐ คน
ได้ร่วมประชุมกัน ณ บ้านเลขที่ ๑๗/๕๒ ซอยลาดพร้าว ๔๓ ถนนลาดพร้าว เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อตั้งชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส ปรากฏรายนามคณะกรรมการก่อตั้งชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส ๒๓ คน มี เรืออากาศเอก เทอดชัย โชติพันธุ์
เป็นประธาน นายอาวุธ ปัทมะเศรษฐ์ เป็นรองประธาน คนที่ ๑ นายอดิศักดิ์ สมทบสุข เป็นรองประธาน คนที่ ๒ และนายชเนศ เลิศวณิช เป็นเลขานุการ หลังจากนั้นได้มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่องจน ชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
และมีการจัดกิจกรรมสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันใหม่ คือ "งานชุมนุมลูกเสือเก่าราชาธิวาส" เมื่อ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งในวาระนั้น สมาชิกลูกเสือเก่าได้เลือกตั้งสมาชิกดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการ โดยเลือกตั้งให้ เรืออากาศเอก เทอดชัย โชติพันธุ์ (รุ่นที่ ๑)
เป็นประธานชมรมคนแรก และนายอาวุธ ปัทมะเศรษฐ์ (รุ่นที่ ๑) เป็นรองประธานชมรม พร้อมคณะกรรมการรวม ๒๒ คน และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมค่ายพักแรมฤดูหนาว ณ สวนรุกขชาติเพ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้น
เมื่อหมดวาระลง ในวันเสาร์ ที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ สมาชิกได้เลือกตั้ง นายอดิศักดิ์ สมทบสุข (รุ่นที่ ๕) เป็นประธานชมรม คนที่ ๒ และนายสถาพร นิปกากร รุ่นที่ ๑๐ เป็นรองประธานชมรม
พร้อมคณะกรรมการรวม ๘ คน บริหารกิจการของชมรมมาอีกระยะหนึ่ง เมื่อภาระหน้าที่การงานของกรรมการเพิ่มขึ้น การจัดกิจกรรมต่างๆ จึงขาดความต่อเนื่อง ทำให้กิจการของชมรมสะดุดลงเป็นเวลานาน แต่ยังมีลูกเสือเก่าอีกหลายท่านได้พยายามสานต่อการจัดกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ต่อกันมา
แม้ว่าจะไม่อยู่ในรูปของคณะกรรมการตามข้อบังคับฯ ก็ตาม เช่น นายวัลลภ หมัดสมบูรณ์ (รุ่นที่ ๑๔) และนายวรพงศ์ วรปฏิสัมภิทา (รุ่นที่ ๑๙) เป็นต้น
ต่อมาในการพบปะสังสรรค์ลูกเสือเก่าเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ สโมสรราชนาวี ท่าช้าง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ลูกเสือเก่าที่มาร่วมงานได้เสนอให้มีการสานต่อกิจกรรมของชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาสให้มีความเป็นปึกแผ่น
และได้มีการประชุมใหญ่สามัญ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ เลือกตั้งให้ นายสิริพงศ์ ลวสุต (รุ่นที่ ๑๐) เป็นประธานชมรม อย่างเป็นทางการ นับเป็นประธานชมรม คนที่ ๓ โดยมี นายชูศักดิ์ องค์ศิริพร (รุ่นที่ ๑๑) เป็นรองประธานชมรม คนที่ ๑ และ พ.ต.อ.บัณฑิต ทิศาภาค (รุ่นที่ ๑๔)
เป็นรองประธานชมรม คนที่ ๒ ตามคำสั่งชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส ที่ ๑/๒๕๕๕ ณ วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งนับจากนั้นมา กิจการของชมรมได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีการแก้ไขข้อบังคับ และประกาศใช้ข้อบังคับ ชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาส พ.ศ. ๒๕๕๕
และจัดกิจกรรมการชุมนุมลูกเสือเก่าราชาธิวาส มาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประธานชมรมมีแนวความคิดว่า "การที่จะทำงานอะไร คิดอะไร ต้องทำและคิดไม่เหมือนเดิม ถ้าทำเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม มันก็จะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" นั่นก็คือการทำงานต้องมีคน
ต้องมีเงิน เพื่อทำให้งานบรรลุเป้าหมาย ต้องมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ และการที่จะทำงานได้ดีต้องมีองค์กรรองรับและถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงดำริที่จะก่อตั้งสโมสรลูกเสือขึ้น เพื่อทำงานด้านสาธารณประโยชน์ เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสโมสร
และหาเงินมาเป็นทุนในการทำงานให้มีความคล่องตัว โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่หาเงินมาเพื่อทำธุรกิจหรือมีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้น ในวันอาทิตย์ ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ คณะลูกเสือเก่าราชาธิวาส ที่มีคุณวุฒิทางลูกเสือหลายท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของการรวมตัวกันเพื่อบำเพ็ญกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ในนามของคณะลูกเสือ
จึงได้ประชุมก่อตั้งสโมสรลูกเสือขึ้น ในเบื้องต้น ใช้ชื่อว่า "สโมสรลูกเสือธีรราชา" มีคณะกรรมการก่อตั้ง ๓๐ คน และมีคณะกรรมการบริหารชุดแรก ๑๑ คน ซึ่งต่อมา ในการประชุมใหญ่ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อบังคับสโมสรลูกเสือธีรราชา พ.ศ. ๒๕๕๕
จนเสร็จสิ้น หลังจากนั้น เลขาธิการได้จัดทำหนังสือ ที่ สล.ธร. ๐๐๑/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ขออนุมัติการจัดตั้งสโมสรลูกเสือ ส่งไปยังเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ พร้อมรายงานการประชุมการก่อตั้งสโมสรลูกเสือ และข้อบังคับสโมสรลูกเสือธีรราชา พ.ศ. ๒๕๕๕
ตามที่ที่ประชุมพิจารณา โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้แจ้งให้เลขาธิการทราบว่า ชื่อสโมสรที่เสนอมาเป็นพระราชสมันยานามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมิบังควรนำมาใช้เป็นชื่อสโมสร ที่ประชุมจึงได้พิจารณาชื่อสโมสรใหม่และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้ชื่อ "สโมสรลูกเสือราชาธิวาส" และกำหนดตราสัญลักษณ์สโมสร คือ
"เป็นรูปเครื่องหมายคณะลูกเสือแห่งชาติบนพื้นหลังสีชมพู – น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียนวัดราชาธิวาส ล้อมรอบด้วยแถบชื่อสโมสรสีแดงเลือดหมูหรือสีมารูน
ซึ่งเป็นสีของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ภายในแถบชื่อสโมสรเขียนข้อความ "สโมสรลูกเสือราชาธิวาส" ด้วยตัวอักษรสีขาว ด้านล่างมีปมเชือกคล้องกับห่วงใต้แถบชื่อสโมสร"
หลังจากนั้น สโมสรลูกเสือราชาธิวาส ได้มีหนังสือที่ สล.รว. ๐๐๑/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พร้อมแนบรายงานการประชุมก่อตั้งสโมสรลูกเสือราชาธิวาส เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งจำนวน ๓๘ คน และข้อบังคับสโมสรลูกเสือราชาธิวาส พ.ศ. ๒๕๕๕ ไปยังเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เพื่อขออนุมัติการจัดตั้งสโมสรลูกเสือราชาธิวาส ตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการก่อตั้งสโมสรลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๔๕
ซึ่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ ศธ ๖๕๐๐/๑๔๙๖ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ รับทราบการรายงานแล้ว และขอบคุณมายังนายกสโมสรและคณะกรรมการสโมสรลูกเสือราชาธิวาสที่ให้ความสนใจและส่งเสริมสนับสนุนกิจการลูกเสือ สโมสรลูกเสือจึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นวันก่อตั้งสโมสรลูกเสือราชาธิวาส อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ นายสิริพงศ์ ลวสุต (รุ่นที่ ๑๐) ตำแหน่งรองผู้ตรวจการลูกเสือ ประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้รับเลือกให้เป็นนายกสโมสรลูกเสือราชาธิวาส คนแรก และได้แต่งตั้งนายสุรพล โมราถบ (รุ่นที่ ๘) ตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือ
เป็นอุปนายก และ ดร.ณัฐวัฒน์ นิปกากร (รุ่นที่ ๑๐) ตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือ เป็นเลขาธิการ โดยสโมสรลูกเสือราชาธิวาส ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ดังนี้
๑) เพื่อเป็นศูนย์รวมบุคคลที่มีใจศรัทธาในกิจการลูกเสือทั่วประเทศ
๒) เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการลูกเสือ โดยการส่งเสริมให้ลูกเสือและผู้บังคับบัญชาลูกเสือมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และเจตคติที่ดีในกิจการลูกเสือ ตลอดจนสนับสนุนด้านการฝึกอบรมให้แก่ลูกเสือและผู้บังคับบัญชาลูกเสือทุกระดับ
๓) เพื่อให้สมาชิกยึดมั่นและปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ
๔) เพื่อให้สมาชิกนำคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือไปเผยแพร่ในชุมชน
๕) เพื่อให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนกระบวนการลูกเสือและกิจการของคณะลูกเสือแห่งชาติ ตลอดจนกิจการลูกเสือทั่วประเทศ
และปรากฏรายนามของคณะกรรมการบริหารสโมสรลูกเสือราชาธิวาส ชุดแรก อันควรบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติ ดังนี้
๑. นายสิริพงศ์ ลวสุต นายกสโมสร
๒. นายสุรพล โมราถบ อุปนายก
๓. ดร.ณัฐวัฒน์ นิปกากร เลขาธิการ
๔. นายชูศักดิ์ องค์ศิริพร เหรัญญิก
๕. นายวรพงศ์ วรปฏิสัมภิทา นายทะเบียน
๖. นายวัลลภ หมัดสมบูรณ์ ปฏิคม
๗. นายปราโมทย์ ธรรมสโรช ประชาสัมพันธ์
๘. ร.อ.พรหเมศวร์ เกษมไพศาล ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
๙. นายณัฏฐ์ ธรรมจักร์ กรรมการกลาง
๑๐. พ.อ.อ.อภิรัตน์ ติ่งทอง กรรมการกลาง
๑๑. นายอนุชัย โชติพันธุ์ กรรมการกลาง
เมื่อครบกำหนดการบริหารงานตามวาระได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่ครบกำหนดตามวาระ โดยที่ประชุมได้เลือกนายสิริพงศ์ ลวสุต เป็นนายกสโมสรลูกเสือราชาธิวาส
อีกเป็นสมัยที่สอง และได้แต่งตั้งให้นายกิติกร ทรงสัตย์ เป็นอุปนายกคนที่ ๑ พ.ต.อ.บัณฑิต ทิศาภาค เป็นอุปนายกคนที่ ๒ ดร.ณัฐวัฒน์ นิปกากร เป็นเลขาธิการ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรลูกเสือราชาธิวาส รวม ๑๙ คน เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
บริหารกิจการของสโมสรสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าชมรมลูกเสือเก่าราชาธิวาสจะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เป็นเวลาไม่นาน และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสโมสรลูกเสือราชาธิวาสขึ้นอย่างเป็นทางการ มีการบริหารงานมาได้ ๓ ปีเศษ จนถึงปัจจุบัน
แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคณะกรรมการสโมสรลูกเสือราชาธิวาสทุกสมัย และพี่น้องลูกเสือเก่าราชาธิวาส ทำให้สโมสรลูกเสือราชาธิวาสได้จัดกิจกรรมสำคัญๆ อย่างมากมายและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนกิจการของคณะลูกเสือแห่งชาติ และกลุ่มลูกเสือโรงเรียนวัดราชาธิวาส
อาทิ การเปิดการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือ ขั้นผู้ช่วยหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ (A.L.T.C.) การฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือ ระดับผู้นำ ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C.) การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือประเภทสำรอง สามัญ และสามัญรุ่นใหญ่ ขั้นความรู้เบื้องต้น (B.T.C.)
และขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C.) ตามลำดับ การนิเทศและติดตามผลการจัดกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษาโรงเรียนวัดราชาธิวาส การจัดการฝึกอบรมลูกเสืออาสาสมัครจราจร การฝึกอบรมนายหมู่ลูกเสือ และเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ โรงเรียนวัดราชาธิวาส เป็นต้น มาอย่างต่อเนื่อง
นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในการเจริญเติบโตของสโมสรลูกเสือราชาธิวาสจนเป็นปึกแผ่นในระยะเวลาไม่นาน ทั้งนี้ สโมสรลูกเสือราชาธิวาสขอขอบคุณท่านผู้ใหญ่ในวงการลูกเสือที่ให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของสโมสรมาอย่างต่อเนื่อง
และจะรักษาปณิธานเจริญตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และบูรพาจารย์ที่ร่วมก่อตั้งกิจการลูกเสือกองพิเศษ โรงเรียนวัดราชาธิวาส สืบไปไม่เสื่อมคลาย